ดูบทความชวนรู้จักกับสารพิษ ที่คิดว่าอยู่ในขวดน้ำดื่ม

ชวนรู้จักกับสารพิษ ที่คิดว่าอยู่ในขวดน้ำดื่ม

หมวดหมู่: สุขภาพ
ขวดน้ำพลาสติก



ชวนรู้จักกับ "สารพิษ" ที่ "คิด" ว่าอยู่ในขวดน้ำดื่ม (สสส.)

      เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team content 

www.thaihealth.or.th  

                

สารไดออกซิน สารบีพีเอ และสารพีซีบี สิ่งเหล่านี้คืออะไร แฝงอยู่ในขวดน้ำพลาสติกจริงหรือไม่?

                ภายหลังการเปิดเผยถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ผลของน้ำขวดพลาสติกจากผู้เชี่ยวชาญว่า ไม่พบสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมถึงไม่พบสารพิษไดออกซิน (Dioxins) สาร Bisphenol A (BPA) หรือสาร PCB (Polychlorinated biphenyl) ในขวดน้ำที่ถูกทิ้งไว้ในรถอุณหภูมิสูงแต่อย่างใดนั้น

 

                

 

                จากกระแสข่าวดังกล่าว ยังชวนให้มีข้อสงสัยและเกิดการตั้งคำถามไปต่าง ๆ นานาว่า ข้อมูลเหล่านั้นให้คำตอบที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ 

เหตุใดถึงไม่มีการพูดถึง "สารบีพีเอ" (BPA) ในขวดน้ำ รวมถึงยังไม่แน่ใจในความปลอดภัยว่า การทิ้งขวดน้ำไว้ในรถยนต์ที่มีอุณหภูมิสูงจะปลอดภัยจริง

       เรามาทำความรู้จักกับสารพิษดังกล่าวกันค่ะ




สารไดออกซิน( Dioxins)

                นายคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศและกลยุทธ์อุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก อธิบายให้ฟังว่า สารไดออกซิน (Dioxins) เป็นสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารเคมีจำพวกอโรมาติกที่มีคลอไรด์เป็นองค์ประกอบเท่านั้น ซึ่งเป็นการเผาไหม้ที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส 

ซึ่งถ้าเผาที่อุณหภูมิสูงหรือน้อยกว่านั้น ก็จะไม่เกิดสารพิษชนิดนี้ และสารพิษชนิดนี้ไม่มีที่ใช้ในอุตสาหกรรมใด ๆ ในปัจจุบัน

       ดังนั้นการเกิดสารพิษชนิดนี้จึงไม่ได้เกิดจากการปนเปื้อนในกระบวนการผลิตจากอุตสาหกรรมใด ๆ

 

       

 

                "ตัวอย่างการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ที่มักจะเกิดขึ้น เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้บ้าน เนื่องจากภายในบ้านมีสายไฟที่ทำจากพลาสติกประเภท PVC ที่มีสารอโรมาติกส์คลอไรท์เป็นองค์ประกอบอาจทำให้เกิดสารไดออกซิน (Dioxins) หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำจากพลาสติกไม่ติดไฟอย่างโทรทัศน์หรือโทรศัพท์ หากเกิดการเผาไหม้ก็สามารถเกิดสารพิษชนิดนี้ได้ 



                ซึ่งสารที่มีสมบัติคล้ายสารไดออกซิน คือ สารกลุ่มโพลี คลอริเนตเตท ไดเบนโซพารา ไดออกซิน (Polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ ฟูแรน (Polychlorinated dibenzo furans: PCDFs) และโพลีคลอริเนตเตทไบฟีนิล (Dioxins–like polychlorinated biphenyls: DL-PCBs)" นายคงศักดิ์ อธิบาย



ขวดน้ำพลาสติก


สาร Bisphenol A (BPA)

               

 "สำหรับสาร Bisphenol A (BPA) ไม่ใช่สารก่อมะเร็งอย่างแน่ชัดอย่างที่มีการแชร์ข้อมูลกัน แต่แค่มีผลทดลองว่ามีส่วนเร่งให้เกิดเนื้องอกในอัณฑะของหนูตัวผู้ แต่ยังไม่เคยมีการทดลองในคนแต่อย่างใด สารตัวนี้เป็นสารที่อาจตกค้างในพลาสติกประเภท พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC) ซึ่งเคยใช้ผลิตเป็นขวดนมเด็ก แต่พบว่าอาจมีการปนเปื้อนของสาร Bisphenol A (BPA)

                

 

                เมื่อให้ความร้อนในระดับสูงโดยเฉพาะในขณะอบฆ่าเชื้อ ทำให้ปนเปื้อนในน้ำนมได้ ทำให้มีการยกเลิกการใช้พลาสติกประเภทนี้ในการผลิตเป็นขวดนมเด็ก ซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่ได้ใช้พลาสติกชนิดนี้ในการผลิตขวดนมสำหรับเด็ก แต่จะใช้พลาสติกประเภท โพลีซัลโฟน ( Polysulphone) และพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) แทน" ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและสารสนเทศฯ สถาบันพลาสติก อธิบายเพิ่มเติม



                ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและสารสนเทศฯ สถาบันพลาสติก บอกอีกว่า 

การปนเปื้อนสาร Bisphenol A (BPA) ของน้ำดื่มจากขวดพลาสติกไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะขวดน้ำพลาสติกที่ใช้กันส่วนใหญ่ทำมาจากขวด PET

      หรือ พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate,PET) จะไม่มีสาร Bisphenol A ปนเปื้อนเลย เพราะสารชนิดนี้อาจจะพบได้ในพอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC) เท่านั้น



                "ที่สำคัญคือ สาร Bisphenol A ไม่ใช่สารก่อมะเร็งและหากมีการปนเปื้อนเกิดขึ้น จะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนของร่างกาย ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดเพี้ยน มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนหญิงเพิ่มมากขึ้น  และอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารกด้วย" ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและสารสนเทศฯ สถาบันพลาสติก




สาร PCB (Polychlorinated biphenyl)

                

 

                สาร PCB (Polychlorinated biphenyl) เป็นสารพิษที่เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์แบบเดียวกับสารไดออกซิน (Dioxins) และเป็นสารพิษกลุ่มเดียวกัน ซึ่งสารพิษทั้ง 3 ชนิด จะไม่สามารถปนเปื้อนในน้ำดื่มได้อย่างแน่นอน

 

                

 

                

ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและสารสนเทศฯ สถาบันพลาสติก ฝากทิ้งท้ายว่า ข้อควรระวังของน้ำดื่มจากขวดพลาสติกคือ การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากการยกขวดน้ำขึ้นดื่มจากปาก จึงไม่ควรยกน้ำดื่มจากขวดโดยตรง แต่ควรเทใส่แก้วดื่ม หรือควรดื่มให้หมดครั้งเดียว เพราะแบคทีเรียภายในปากอาจปนเปื้อนทำให้เกิดการเจริญเติบโตในขวดน้ำได้

18 สิงหาคม 2559

ผู้ชม 917 ครั้ง

    Engine by shopup.com